3 เทคโนโลยีเครื่องจักรช่วยอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตสีเขียว

10 สิงหาคม 2567
3 เทคโนโลยีเครื่องจักรช่วยอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตสีเขียว
  • เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้ (Heat Optimization and Recovery) ลดการใช้พลังงานความร้อนและไฟฟ้า 30-50%, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-50%, เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อน 20-30%
  • เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต (Process Equipment Optimization) ดระยะเวลาการหยุดชะงักของเครื่องจักร 30-50%, ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง 40%, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10-30%
  • เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะ (Smart Pumps and Valves)  ลดการใช้พลังงาน 10-20%, ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10-30%
      Krungthai COMPASS จี้ผู้ประกอบการไทย ปรับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปรับตัวช้าอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน แนะ 3 เทคโนโลยีเครื่องจักรที่ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย
ภาคอุตสาหกรรม
        หนึ่งในเครื่องยนต์ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย สร้างรายได้กว่า 4 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนราว 25% ของ GDP ของไทย แต่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษค่อนข้างสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 59.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือคิดเป็น 24% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของไทย
        ถึงเวลาแล้วที่ภาคอุตสาหกรรมไทยจะมุ่งสู่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหากไม่ดำเนินการหรือปรับตัวช้า  อาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน (Transition risk) โดยเฉพาะด้านกฎระเบียบของประเทศคู่ค้าที่เข้มงวดขึ้น จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อาทิ การตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มาตรการภาษีคาร์บอน หรือการใช้วัตถุดิบที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า และความเสี่ยงด้านตลาดจากความต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นของผู้บริโภค รวมถึงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีจากการขาดโอกาสลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สะอาดและมีประสิทธิภาพ

Krungthai COMPASS แนะนำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตเตรียมพร้อมปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอย่างจริงจัง โดยเริ่มตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและวัดได้ อีกทั้งผู้ผลิตเครื่องจักรควรมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง

3 เทคโนโลยีเครื่องจักรที่ช่วยเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่เผชิญแรงกดดันด้านสิ่งแวดล้อมอย่างโรงงานผลิตเหล็ก โรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม และโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ ได้แก่

  • เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้ (Heat optimization and recovery) เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้ หรือ Heat optimization and recovery คือเทคโนโลยีที่ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อนในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม  

เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน สามารถลดการใช้พลังงานความร้อนและลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในกระบวนการผลิตได้ถึง 30-50% อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 20-50%  และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานความร้อนได้ราว 20-30%

Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากโรงงานอุตสาหกรรมของไทยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพและการนำความร้อนกลับมาใช้ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 8 ล้านบาทต่อโรงงานอุตสาหกรรม และมีระยะเวลาคืนทุนราว 5-6 ปี มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 19.6% 

  • เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต (Process Equipment Optimization) เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในกระบวนการผลิต หรือ Process Equipment Optimization คือ เทคโนโลยีที่ใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องและลดความสูญเสียจากการหยุดชะงักของการผลิต 

เทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตจะช่วยลดระยะเวลาการหยุดชะงักของเครื่องจักร และลดต้นทุนการบำรุงรักษา สามารถช่วยลดระยะเวลาการหยุดชะงักของเครื่องจักร ในกระบวนการผลิตได้ถึง 30-50%  ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องจักรได้ราว 40% อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 10-30% 

  • เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะ (Smart pump and vales) เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะ หรือ Smart pump and vales คือ อุปกรณ์ปั้มและวาล์วที่เชื่อมต่อข้อมูลกับเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ 

เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะจะช่วยประหยัดต้นทุนด้านพลังงาน โดยการใช้ปั้มและวาล์วในการควบคุมการส่งถ่ายของไหล (Liquid Transfer) สามารถปรับอัตราการไหลได้อัตโนมัติและปรับพารามิเตอร์การทำงานให้เหมาะสมเพื่อให้ตรงกับความต้องการในแต่ละอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดการสูญเสียในระบบน้อยที่สุด ทำให้ประหยัดพลังงานได้มากกว่าระบบแบบเดิมที่ไม่ได้มีการควบคุมที่แม่นยำ และช่วยลดการใช้พลังงานได้ 10-20% อีกทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 10-30% 

Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากโรงงานอุตสาหกรรมของไทยมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปั้มและวาล์วอัจฉริยะ คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 1.8 ล้านบาทต่อโรงงานอุตสาหกรรม และมีระยะเวลาคืนทุนราว 3-4 ปี มีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 27.2%

Krungthai COMPASS แนะนำผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรม ดังต่อไปนี้?

ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม

ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมควรเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจนและวัดได้ เพื่อยกระดับการดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions)

ผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์

ผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ควรมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น การประยุกต์ใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ควบคู่กับเทคโนโลยี AI ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อลดส่วนสูญเสียจากการผลิต ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า รวมถึงการพัฒนาวัสดุที่ใช้ในการผลิตเครื่องจักรซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ภาครัฐ

ภาครัฐควรเป็นแกนหลักในการผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียวและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเครื่องจักรและอุปกรณ์ได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยมีการกำหนดนโยบายและมาตรการที่ชัดเจน สนับสนุนเงินทุนสำหรับการลงทุนในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ภาคการเงิน

ภาคการเงินทั้งหน่วยงานกำกับดูแลสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์จะเป็นอีกหนึ่ง Key enabler สำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตสีเขียวให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ช่วยส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

 

 


แหล่งที่มา : ฐานเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.